บทเรียนสามขั้นตอน 

               มอนเตสซอรีได้นำแนวความคิดเกี่ยวกับ “บทเรียนสามขั้นตอน” จาก Edward Seguin มาใช้ ซึ่งการที่ Edward ได้แบ่งบทเรียนออกเป็นสามขั้นตอน ก็เพื่อให้เด็กได้ทราบถึงความสัมพันธ์ระหว่างวัตถุกับชื่อของวัตถุนั้นๆ เมื่อเขาทำงานอยู่กับเด็กพิเศษ

               1. ขั้นตอนที่หนึ่งเป็นการพูดออกเสียงชื่อหรือลักษณะของวัตถุให้ถูกต้อง ชัดเจน โดยไม่ต้องเพิ่มเติมรายละเอียดอื่นเข้ามาให้เด็กสับสน เช่น “สิ่งนี้เรียบ (โดยให้เด็กลูบสัมผัสกับวัตถุนั้นไปด้วย), สิ่งนี้ขรุขระ เป็นต้น” “ ในการสอนบทเรียนสามขั้นตอนการเรียกขานชื่อวัตถุ ควรทำให้เกิดความเชื่อมโยงระหว่างวัตถุกับชื่อด้วย ดังนั้นทั้งวัตถุและชื่อ จึงควรเป็นสิ่งที่เด็กได้รู้จักและเข้าใจไปพร้อมกัน และในขณะที่สอน ควรเอ่ยแต่ชื่อวัตถุ ไม่ควรใช้คำอื่นๆเข้ามาปะปนมากมาย

               2. ขั้นตอนที่สองจะเริ่มขึ้นภายหลังจากสอนขั้นตอนแรกได้สักครู่ เพื่อเป็นการช่วยยืนยันว่าเด็กสามารถเชื่อมโยงความสัมพันธ์ระหว่างวัตถุกับชื่อได้หรือไม่ โดยให้ครูถามคำถามเด็กอย่างช้าๆ ชัดเจน และใช้เฉพาะคำนามหรือคำคุณศัพท์ที่ได้สอนไปแล้วเท่านั้น เช่น “อันไหนเรียบ อันไหนขรุขระ เป็นต้น” โดยให้เด็กชี้ไปยังวัตถุนั้นๆ ครูจะสามารถทราบได้ทันทีว่าเด็กเข้าใจสิ่งที่สอนไปแล้วหรือไม่ ขั้นตอนนี้ถือว่าเป็นขั้นตอนที่สำคัญที่สุดของบทเรียนทั้งสามขั้น และยังเป็นขั้นตอนที่ช่วยเสริมสร้างความจำให้กับเด็กด้วย

               3. เมื่อครูผู้สอนเห็นว่าเด็กเข้าใจคำถามดีแล้ว อาจลองถามคำถามเดิมๆ อีกหลายๆ ครั้ง เพื่อยืนยันความเข้าใจของเด็ก และเพื่อให้เป็นข้อมูลที่ติดอยู่ในความจำของเด็ก แต่หากเห็นว่าเด็กไม่สามารถทำได้ หรือไม่สามารถตอบได้อย่างถูกต้อง ครูไม่จำเป็นต้องแก้ไขทันที แต่สามารถหยุดคำถามไว้ก่อน และอาจลองถามต่ออีกในวันอื่นๆ ต่อไปเมื่อครูเห็นว่าเด็กเข้าใจแล้ว ครูอาจทวนคำถามกับเด็กอีกครั้งเพื่อยืนยันความเชื่อมโยงนั้นและเน้นให้เด็กจำได้มากยิ่งขึ้น แต่หากครูเห็นว่าเด็กยังไม่สามารถเชื่อมโยงได้ครูก็ไม่ควรแก้ไขข้อผิดพลาดให้เด็ก ควรพักบทเรียนไว้ก่อนโดยไม่ให้เด็กรู้สึกอึดอัดหรือกดดัน แล้วค่อยเริ่มบทเรียนใหม่วันหลัง

               ขั้นตอนที่สาม จะเป็นขั้นตอนที่ให้ความกระจ่างของการเรียนรู้ในขั้นตอนที่หนึ่ง โดยครูจะตั้งคำถามแก่เด็กว่า “สิ่งนี้คืออะไร” โดยเด็กอาจตอบว่า “สิ่งนี้เรียบ” ฯลฯ และครูสามารถตั้งคำถามดังกล่าวหลายๆ ครั้งก็ได้เพื่อเป็นการเน้นความจำ มอนเตสซอรี เห็นว่าเทคนิคดังกล่าวสามารถนำไปใช้ได้กับทุกๆ กิจกรรมที่ต้องการให้เด็กเข้าใจถึงความเชื่อมโยงของสิ่งต่างๆ ที่สำคัญคือ ครูต้องมีความเข้าใจถึงระดับพัฒนาการของเด็ก และหากพบว่าเด็กยังไม่พร้อมที่จะพัฒนาหรือก้าวไปในยังขั้นต่อไป ครูไม่ควรบังคับหรือแก้ไขให้ แต่ควรรอและลองทำใหม่ในโอกาสต่อไป